ลักษณะแนวชายฝั่งทะเลไทย

จากกระบวนการทางอุทกศาสตร์ที่กระทำต่อชายฝั่งตลอดเวลา มีทั้งการพัดพาและสะสมตะกอนชายฝั่ง จากการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติต่อโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ ทำให้รูปร่างของชายฝั่งทะเลมีลักษณะสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและแตกต่างกันๆ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. หน้าผาหิน มีลักษณะเป็นหินโผล่ (outcrop) อยู่ตามริมฝั่งทะเล มีทั้งเป็นหัวแหลม (headland) และหน้าผา (cliff) เกิดจากคลื่นพลังงานสูงกัดเซาะชายฝั่งหิน มีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้หินเหล่านั้นผุพังและถูกกัดเซาะหลุดร่วงไปเป็นชายฝั่งหิน ในหลายๆ ลักษณะทั้งหาดหิน (shingle beach) แท่งหินตั้ง (stack) ซุ้มหินโค้งและถ้ำลอด (sea arch) สะพานหินธรรมชาติ (natural bridge) หน้าผาริมทะเล (sea cliff) เว้าทะเล (sea notch) โดยส่วนใหญ่พบทางฝั่งทะเลอันดามัน
2. หาด (beach) คือ พื้นที่ระหว่างขอบฝั่งถึงแนวน้ำลงต่ำสุดเป็นแถบยาวไปตามชายฝั่ง โดยมีวัสดุที่แตกต่างกันตกตะกอนทับถมแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
2.1 หาดหินหรือหาดกรวด (shingle beach) เป็นหาดที่มีองค์ประกอบของหินหรือกรวดขนาดต่างๆ กันมาทับถมกัน พบมากบริเวณชายฝั่งที่เป็นภูเขาสูง หน้าผา โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน
2.2 หาดทราย (sand beach) เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทราย หรือเปลือกหอย เศษปะการัง ที่พัดพามาตามกระแสน้ำชายฝั่ง โดยมีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ลักษณะเด่นของหาดทราย ฝั่งอ่าวไทยจะเป็นหาดขนานแผ่นดิน (mainland beaches) ที่ยาวและกว้างต่อเนื่องกันหลายกิโลเมตร ตามแนวยาวของแผ่นดินใหญ่ ส่วนหาดก้นอ่าว (pocket beaches) จะพบเห็นบางบริเวณในอ่าวเล็กๆ อยู่ระหว่างหัวแหลมหรือหาดทรายที่เกิดด้านนอกของหน้าผาที่เป็นหลืบ หาดทรายเหล่านี้จะมีลักษณะสั้นและแคบโค้งเว้าเข้าไปในแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีหาดสันดอน (barrier beaches) ซึ่งเป็นแนวหาดทรายยาวด้านนอกที่อยู่ติดทะเล หาดสันดอนมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะซับซ้อนเพราะมักจะมีลักษณะชายฝั่งรูปแบบอื่นเกิดร่วมด้วย ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน หาดมีลักษณะแคบและสั้น (pocket beach) ส่วนมากเป็นหาดทรายที่อยู่ระหว่างหัวแหลมหรืออ่าว ตะกอนทรายมีขนาดปานกลางถึงหยาบ ปะปนด้วยกรวด เปลือกหอย และเศษปะการังมีความหนาของชั้นทรายประมาณ 2-4 เมตร นอกจากนี้บางแห่งอาจพบสันดอนทรายขนานแนวฝั่ง มีลักษณะเป็นเนินทราย อาจมีลากูนคั่นอยู่ บางบริเวณตอนปลายของสันดอนทรายมีลักษณะโค้งเว้าเข้าหาแผ่นดิน เรียกว่าสันดอนจงอย เช่น แหลมตาชี แหลมตะลุมพุก หรือบางแห่งเกิดยื่นขวางหรือปิดปากแม่น้ำหรือชายหาด โดยเกิดขึ้นและคงสภาพอยู่เป็นเวลานานจนมีขนาดใหญ่ปิดกั้นทะเลเป็นแอ่งน้ำ ก็จะกลายเป็นทะเลสาบน้ำเค็ม เช่น ทะเลสาบสงขลา ทั้งนี้ หาดทรายแบ่งตามอายุได้ 2 ประเภท คือ
      – หาดทรายเก่า (old beach) เป็นหาดทรายที่เกิดจากการทับถมของตะกอนในช่วงที่น้ำทะเลเริ่ม รุกเข้ามาในแผ่นดินเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่ผ่านมา ลักษณะแนวหาดทรายนี้พบอยู่ในระดับความสูงประมาณ 4-5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน และเป็นแนวหาดทรายที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินห่างจากขอบฝั่งปัจจุบัน โดยพบมีระยะทางตั้งแต่ไม่กี่เมตรจนถึงเป็นสิบๆ กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศเดิมของพื้นที่ ปัจจุบันพื้นที่หาดทรายเก่าถูกพัฒนาเป็นชุมชนเมือง
      – หาดทรายใหม่ หรือหาดทรายปัจจุบัน (young beach) เป็นแนวหาดทรายที่มีอายุประมาณ 2,000 ปีลงมา พบอยู่บริเวณด้านนอกติดกับทะเลปัจจุบัน ระดับความสูงของหาดทรายใหม่ประมาณ 0.5-2 เมตร เนื้อตะกอนทับถมส่วนใหญ่เป็นทรายปนกับเปลือกหอย หรือซากปะการังที่เกิดจากการพัดพาตามกระแสน้ำชายฝั่งในแต่ละช่วงมรสุม จึงยังไม่มีความมั่นคงและง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการกัดเซาะ การถอยร่น การงอก พอกพูนทับถมตามกระบวนการที่เกิดต่อชายฝั่ง
2.3 หาดเลนหรือที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) มีสภาพแวดล้อมค่อนข้างสงบ โดยได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดการสะสมตัวของตะกอนทรายแป้ง ดินเหนียว และทรายเม็ดละเอียดที่ถูกพัดพาแขวนลอยมากับน้ำจนเป็นลานแบนราบ มักพบตามปากแม่น้ำลำคลองที่ต่อเชื่อมกับทะเล จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร มักพบพรรณไม้ป่าชายเลนและอาจพบแหล่งหญ้าทะเล หาดเลนโดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามอายุการเกิด ดังนี้
      - ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง ที่อยู่เหนือระดับน้ำขึ้นสูงสุด (supratidal flat) เป็นหาด ซึ่งอยู่ด้านในต่อเนื่องกับแผ่นดิน โดยทั่วไปมักพบอยู่ด้านหลังของป่าชายเลน ตะกอนดินสะสมในพื้นที่ราบนี้ มีมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 9,000 ปีที่ผ่านมาและสะสมขึ้นเรื่อยๆ จะน้ำทะเลท่วมไม่ถึง ปัจจุบันพื้นที่นี้มีการเปลี่ยนสภาพด้วยการถมเพื่อเป็นแหล่งชุมชน
      - ราบน้ำทะเลขึ้นถึงบริเวณระหว่างระดับน้ำขึ้นสูงสุดกับน้ำลงต่ำสุด (intertidal flat) เป็นหาดโคลนหรือเลนอ่อนในปัจจุบัน มีพรรณไม้ป่าชายเลนขึ้นปกคลุม ในช่วงน้ำขึ้นจะจมอยู่ใต้น้ำและจะโผล่เมื่อน้ำลง ตะกอนที่สะสมมีอายุน้อยกว่า 5,000 ปี มีสีเทาหรือสีเทาปนเขียวประกอบด้วยเศษซากอินทรียวัตถุปะปนอยู่มาก จึงมีความอุดมสมบูรณ์และมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่ซับซ้อน พื้นที่นี้จัดเป็นเขตที่มีความอ่อนไหวและง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เนื่องจากยังมีการเคลื่อนตัวของตะกอนตลอดเวลา จึงเป็นพื้นที่สำคัญในการอนุรักษ์
      - ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงที่อยู่ใต้ระดับน้ำลง (subtidal flat) พื้นที่ชายฝั่งด้านนอกสุด ในเวลาน้ำลงต่ำสุดก็ยังจมใต้น้ำ อาจโผล่พ้นระดับน้ำได้บ้างโดยหมายรวมถึงสันดอน (bar) และที่ราบพอกพูน (accretionary plain) ด้วย ชายฝั่งนี้จึงเปิดโล่งไม่มีพืชปกคลุม ตะกอนส่วนมากเป็นทรายเนื้อละเอียดปนดินเหนียวและทรายแป้ง หรือเป็นดินเหนียวปนทรายแป้ง เนื่องจากได้รับอิทธิพลของคลื่นจากทะเลด้านนอกในการสะสมตัว หาดนี้มีรูปร่างไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
3. ลากูน (lagoon) เป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำตื้นต่ำกว่าระดับน้ำขึ้นสูงในช่วงน้ำเกิด อยู่ระหว่างหาดทราย หรือมักพบอยู่ด้านหลังหาดสันดอน โดยอยู่ขนานกับชายฝั่ง ส่วนมากจะมีทางเปิดสู่ทะเล มีความยาวและความกว้างไม่แน่นอน ลากูนที่มีขนาดใหญ่เกิดเป็นพื้นที่กว้างจะมีลักษณะเป็นที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) และพรุ (marsh) ร่วมอยู่ด้วย วิวัฒนาการของลากูนที่พบสามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ
3.1 ลากูนเก่า (old lagoon) เป็นลากูนที่วิวัฒนาการมาพร้อมกับหาดทรายเดิมในช่วงที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 10,000-6,000 ปีที่ผ่านมา ตะกอนสะสมเป็นตะกอนทรายสลับดินเหนียว ปัจจุบันลากูนเก่านี้มักตื้นเขินเป็นที่ลุ่มมีวัชพืชปกคลุม หรือแปรสภาพไปเป็นพื้นที่เกษตร
3.2 ลากูนปัจจุบัน (young lagoon) เป็นลากูนที่เกิดขึ้นหลังจากน้ำทะเลลดระดับลงมา เมื่อประมาณ 5,000 ปีที่ผ่านมา ตะกอนสะสมเป็นทรายจากการกัดเซาะหาดทรายเดิมที่เกิดขึ้นก่อนลากูนปัจจุบันยังคงมีน้ำขังและขึ้นลงตามน้ำทะเล และยังคงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหาดได้ตามฤดูกาล
4. พรุหรือมาบ (marsh) เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่วนมากจะวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจากที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงที่อยู่เหนือระดับน้ำขึ้นสูงสุดที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมและลากูน โดยอยู่ระหว่างหาดทรายเก่า หรืออยู่ระหว่างแผ่นดินกับภูเขา หรือหัวแหลมที่ติดกับทะเล
5. เนินทรายชายฝั่งทะเล (coastal sand dune) เกิดจากการพัดพาทรายมาสะสมตัวโดยลมและคลื่น ในประเทศไทยพบได้น้อยและที่พบจะมีขนาดเล็ก เนื่องจากมีความชื้นสูงทำให้ทรายเปียกและมีต้นไม้ปกคลุมหาดจึงทำให้ทรายเคลื่อนที่ไปสะสมได้ยาก เช่น สันทรายบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
6. ชะวากทะเล (estuary) พบบริเวณหาดเลนสองฝั่งปากแม่น้ำมีลักษณะคล้ายอ่าว แต่ตอนบนของปากแม่น้ำสอบเข้าคล้ายรูปกรวย เป็นแหล่งสะสมของตะกอนน้ำกร่อยจากแม่น้ำลำคลองผสมกับตะกอนน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำ นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารสูง มีสัตว์ทะเลจำนวนมาก และจัดเป็นพื้นที่อันควรอนุรักษ์ป้องกันการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
7. เกาะ (island) คือ แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ ในประเทศไทยมักพบเกาะใกล้ๆ ชายฝั่งทะเล และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ เกาะที่พบเป็นเกาะริมทวีป พื้นดินบนเกาะจึงเป็นผืนเดียวกับพื้นดินทวีป แต่อาจมีการยุบตัวของแผ่นดินตามกระบวนการทางธรณีวิทยา จนน้ำทะเลท่วมส่วนต่ำตัดขาดแผ่นดินกับเกาะ

ความคิดเห็น